top of page

 “ จะรู้ได้อย่างไรว่ามีพื้นที่ไหนเคยเกิดน้ำท่วมบ้างและเราจะสามารถติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างไร วันนี้มีคำตอบกับ Floodblockthailand”    

 

            น้ำท่วมหรืออุทกภัยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในทุกภาคของประเทศไทย โดยลักษณะของการเกิดน้ำท่วม มีความรุนแรงและรูปแบบต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและสภาพพื้นที่โดยการเกิดน้ำท่วมแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1. น้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลัน มักเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้เชิงภูเขา เนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยปริมาณน้ำจำนวนมากเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วจากที่สูงลงสู่พื้นที่ต่ำก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศหากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ

2. น้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง เป็นลักษณะของอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมากที่ไหลบ่าในแนวระนาบจากที่สูงไปยังที่ต่ำ หรือปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องที่ไหลลงสู่ลำน้ำหรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่างหรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ถนน หรือสะพานอาจชำรุด ทางคมนาคมถูกตัดขาด หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขังในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำหรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล โดยระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาและระดับความสูงของน้ำที่ท่วมแช่ขัง (มักเกิดในพื้นที่ชั้นในของ กทม. และบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม)

          พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก หมายถึง พื้นที่ที่มีการท่วมขังของน้ำบนผิวดินสูงกว่าระดับปกติและมีระยะเวลาที่น้ำท่วมขังยาวนานอยู่เป็นประจำ จนสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ทรัพย์สิน และ/หรือชีวิต ทั้งนี้สามารถจำแนกการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นครั้งคราว มีน้ำท่วมขังไม่เกิน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี
ระดับที่ 2 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง มีน้ำท่วมขัง 4-7 ครั้งในรอบ 10 ปี
และระดับที่ 3 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ มีน้ำท่วมขังมากกว่า 8 ครั้งในรอบ 10 ปี

          พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศอย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะกับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเป็นประจำ ดังนั้นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกษตรกรสามารถทำได้คือการวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมร่วมกับการเรียนรู้และสังเกตธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทุกๆปี ซึ่งจะช่วยในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

            หากแต่เป็นพื้นที่ที่เป็นบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย ก็สามารถเตรียมการป้องกันและรับมือกับน้ำท่วมได้ด้วยตนเอง โดยการเตรียมถุงทรายหรือกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้เช่นกัน

            ซึ่งปัจจุบันได้มีเว็บไซต์ ที่ใช้ระบบดาวเทียมในการติดตามพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมได้อย่างทันที และยังสามารถดูเหตุการณ์ที่เกิดเคยและมีประวัติน้ำท่วมในอดีตได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สามารถเตรียมเฝ้าระวังน้ำท่วม หรือ ผู้ที่สนใจจะลงทุนหรือต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย (สามารถติดตามดูข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมได้ที่ https://floodv2.gistda.or.th/)
 

1.png

ในปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วม ก็ยังเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยสาเหตุหลักคือเกิดจากสภาพภูมิประเทศ หากที่ใดเป้นสภาพเป็นแอ่ง หรือที่ลุ่มน้ำขัง น้ำก็จะไหลมารวมกันตามหลัก ของกฏแรงโน้มถ่วงคือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน พื้นที่เดิมๆก็ยังจะเกิดน้ำท่วมอยู่ตลอด หรือเกิดจากการจัดการทางระบายที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งเราเองก็จะหวังพึงพาภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่ได้ หากเรามีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จะช่วยลดหรือบรรเทาภัยน้ำท่วมได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาระดับต้น เพื่อที่เราจะได้ไหวตัวทัน

ลดความเสียหายใหญ่ที่จะเกิดกับตัวเรา ครอบครัวได้ FloodBlock ถุงทรายนาโน นวัตกรรมขอสนับสนุนแนวทางช่วยเหลือตัวเองอย่างยั่งยืน

ด้านล่างคือ รายชื่อจังหวัดยอดนิยม ในการประสบเจอปัญหาน้ำท่วมทุกปี
มาดูกันว่ามีจังหวัดอะไรบ้างและเพราะเหตุใด

1.พระนครศรีอยุธยา
เรียกได้ว่าเกือบทั้งจังหวัดและเกือบทุกๆปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นจังหวัดประสบภัยน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำเจ้าพระยา 
แม่น้ำน้อย และ แม่น้ำป่าสัก ไหลผ่าน จึงทำให้พอถึงฤดูน้ำหลาก ก็จะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ทั้งจังหวัด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือนร้อนจากพืชผลเสียหายอยู่ทุกๆปี 
อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อระบายออกจาก 4 เขื่อนใหญ่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนแควน้อย และ เขื่อนป่าสักฯ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1423.8 มิลลิเมตร โดยประมาณ
ถือเป็นจังหวัดอันดับต้นๆของประเทศในการเผชิญปัญหาน้ำท่วมในทุกๆปี เนื่องด้วยจากทำเลที่ตั้ง รวมถึงเป็นแหล่งรวมของแม่น้ำสำคัญๆและเขื่อนต่างๆอีกด้วย
 

2.กรุงเทพฯ คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังของทุกปีในกรุงเทพฯอย่าง คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก มักเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของกรุงเทพฯมาโดยตลอด เพราะพื้นที่แถบนี้นอกจากจะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกชุกแล้ว 
ยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำเวลาน้ำท่วมไหลหลากมาจากทางภาคเหนือและอยุธยาต่ออีกที นอกจากนี้พื้นที่ทาง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแคเอง ก็ถือว่าเป็นพื้นที่รับน้ำที่มาจากภาคเหนือเช่นกัน 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกรุงเทพฯคือ ตัวเมืองชั้นใน ที่หากน้ำท่วมแล้วจะไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน เพราะสภาพเป็นแอ่งเหมือนกระทะ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,546.56 มิลลิเมตร โดยประมาณ
ในทุกๆปีเมื่อเจอสภาวะน้ำท่วม เขต กทม ส่วนมากจะเกิดจากน้ำที่ไม่สามารถระบายได้ทัน เนื่องจากการอุดตันของเศษขยะในเมืองนั่นเอง หากไม่มีขุดลอกคูคลองอยู่เป็นประจำแล้ว
หรือชาวเมืองยังทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง น้ำท่วมก็จะเกิดขึ้นทุกๆปี แต่หากทุกๆคนช่วยกันก็อาจจะทำให้ปัญหาน้ำท่วมเบาบางลงได้ รวมถึงฝั่งรัฐบาลเองก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหา
น้ำท่วมในเขตเมืองอย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นการทำประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ในตัวเมือง การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ
 

3.อ่างทอง
จังหวัดอ่างทองก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีสถานการเดียวกันกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงเลยจุดวิกฤติ  ของคันกั้นน้ำอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเขื่อนเจ้าพระยาที่เมื่อมีช่วงที่ฝนตกหนักเกินที่เขื่อนจะรองรับไหว จึงปล่อยน้ำออกมาเพื่อระบายออกมา เพราะอยู่ในเขตที่ลุ่ม คล้ายจังหวัดอยุธยา รวมถึงมีแม่น้ำและเขื่อนอยู่รายรอบจังหวัด ทำให้เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม หรือน้ำในเขื่อนใกล้จะเต็ม ทางระบายก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดโดยรอบที่จะได้รับผลกระทบ
ทำให้จังหวัดอ่างทองเป็นอีกหนึ่งจังหวัดเรียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 921.16 มิลลิเมตร ทั้งที่ปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่มากแต่อยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา และแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อน้ำเต็มเขื่อนก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยชาวบ้านก็จะได้รับผลเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เพื่อป้องกันเขื่อนแตก
 

4.นครปฐม บางเลน ดอนตุม พุทธมณฑล
เป็นจังหวัดที่ตั้งบนแม่น้ำท่าจีนที่ลองรับน้ำมาจากทางภาคเหนืออีกที ทำให้พื้นที่ราบลุ่มอย่างนครปฐมที่สูงจากระดับน้ำทะเล 2-4 เมตร ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ดอนตุม พุทธมณฑล นครชัยศรี และบางเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ไหลผ่านของแม่น้ำท่าจีน และมีลุ่มน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก 
จึงทำให้เกิดอาการคอขวดขึ้นที่แม่น้ำสายใหญ่จนเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในที่สุด โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1006.1 มิลลิเมตร โดยประมาณ
เนื่องด้วยพื้นที่และการขดกันของแม่น้ำหลายๆสาย ทำให้น้ำสามารถท่วมได้สูงถึงหลายเมตรเลยทีเดียว เป็นจังหวัดที่ควรต้องมีการเฝ้าระฝังอยู่ตลอด
เพราะน้ำท่วมสูงขนาด 2-4 เมตรได้นั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเช่นกัน

 

5.นนทบุรี ไทรน้อย บางใหญ่
จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นราบลุ่ม โดยมีน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ไทรน้อยและ บางใหญ่ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให่น้ำท่วมในพื้นที่นี้คือ น้ำที่ไหลหลากจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง ทำให้จังหวัดนนทบุรี ที่ปัจจุบันมีสภาพภูมิประเทศไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพมหานครแล้ว ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,130.9 มิลลิเมตร โดยประมาณ

 

6.ปทุมธานี รังสิต คลองหลวง ลำลูกกา
ถ้าอยากจะมีบ้านซักหลังในราคาที่จับต้องได้ ไม่ไกลกรุงเทพ จังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะย่านรังสิต(ธัญบุรี) คลองหลวง ลำลูกกา เป็นย่านที่มีบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮมผุดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อการขยายตัวของแหล่งชุมขนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ระบบระบายน้ำก็ย่อมถดถอยลงตามไปด้วย ยิ่งลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดปทุมธานีเป็นลักษณะแบบแอ่งต่ำ เป็นพื้นที่รับน้ำก่อนไหลออกเจ้าพระยา น้ำที่เข้ามายังพื้นที่ชุมชนก็ยิ่งระบายออกได้ช้ามากขึ้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ต่อให้ไม่มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือ แค่ฝนตกหนักไม่นานก็ทำให้บริเวณแถบนี้เกิดการท่วมขังได้ง่ายแล้ว โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,241.3 มิลลิเมตร โดยประมาณ

7.พิจิตร
โดยทั่วไปของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ราบลุ่ม ที่มีแม่น้ำยม และแม่น้ำน่านไหลผ่าน แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลผ่านจังหวัดเกือบเป็นลักษณะเส้นขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยมีแม่น้ำพิจิตร(แม่น้ำเดิม) อยู่ระหว่างกลาง ทำให้ในฤดูน้ำหลาก น้ำหนุนสูงจนล้นตลิ่ง ทำให้พื้นที่โดยรอบแม่น้ำทั้ง 3 สาย เกิดน้ำท่วมได้ง่าย โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1264.8 มิลลิเมตร โดยประมาณ

 

8.นครสวรรค์ ชุมแสง ท่าตะโก
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตอนบนของภาคกลาง หรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ในตอนล่างของภาคเหนือ จึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” แต่เพราะแบบนี้เอง จังหวัดนครสวรรค์จึงได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากจากภาคเหนือเป็นจังหวัดแรกๆเช่นกัน เพราะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นการไหลบรรจบของแม่น้ำสี่สายจากภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ทำให้เจอวิกฤติ น้ำเหนือล้นตลิ่งอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ อ.ชุมแสง และ ท่าตะโก โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,196.15 มิลลิเมตร โดยประมาณ

 

9.ชัยนาท สรรพยา สรรคบุรี
เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองชลประทานอีกหลายสาย พร้อมยังเป็นพื้นที่ตั้งของเขื่อนเจ้าพระยาที่รองรับน้ำและกักเก็บน้ำจากทางภาคเหนืออีกทอดหนึ่ง ทำให้เมื่อถึงคราวน้ำหนือไหลหลากจนล้นตลิ่งท่วม ซึ่งหลายๆพื้นที่ของจังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง อ.สรรคบุรี อ.เมืองชัยนาท และ อ.สรรพยา โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106.7 มิลลิเมตร

 

10.สิงห์บุรี
จังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะภูมิประเทศโดยเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่น ๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขาและป่าไม้มี ด้วยเหตุนี้เอง ในฤดูน้ำหลาก จึงไม่มีคันกันน้ำตามธรรมชาติที่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,047.27 มิลลิเมตร

bottom of page