top of page

โรคยอดฮิตที่มากับน้ำท่วม!!!

เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม เราก็เลี่ยงไม่ได้เลยจริงๆที่จะต้องเผชิญกับเชื้อโรคต่างๆ

ที่อาจมากับน้ำท่วม และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยอันดับต้นๆ เรามาดูสาเหตุ

และการป้องกันแก้ไขโรคที่มากับน้ำท่วมกันนะครับ 

1.โรคน้ำกัดเท้าหรือ ฮ่องกงฟุต


      จะมีอาการคัน อันเกิดจากเชื้อราที่เท้า เมื่อเท้าเปียก ๆ ชื้น ๆบ่อย จะเป็นบ่อเกิดของเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes เนื่องจากเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้นนั่นเอง 

การติดเชื้อ
      การติดเชื้อส่วนใหญ่ หากไม่ใช่ฤดูฝน มักจะเกิดจากเหงื่อออก หมักหมม ไม่รักษาความสะอาดให้ดี แต่หากในช่วงน้ำท่วม มักเป็นจากเท้าที่เปียกๆ ชื้นๆ บ่อยๆ แล้วไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เนื่องจากน้ำท่วมมีการกักขังอยู่ในบริเวณรอบบ้านเป็นเวลานาน น้ำย่อมระเหยออกมาทำให้เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อากาศหรือรองเท้า เราแห้งได้ยากเป็นบ่อเกิดเชื้อราที่ดี

อาการของโรค
      คันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย ๆ เป็นผื่นที่เท้า ที่พบบ่อยจะเกิดตรงซอกนิ้ว แต่ก็สามารถลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้

การรักษา
      การรักษาโรคราที่เท้า ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้น ใช้ครีมรักษาเชื้อราทา

 การป้องกัน
 1. หลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ
 2. ถ้าจำเป็นจะต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท

3. หากมีถุงพลาสติกก็สามารถใส่ครอบเท้าก่อนใส่รองเท้าบูทอีกชั้นนึง

4. พยายามเช็ดเท้าให้แห้งสนิท และล้างด้วยสบู่หลังจากออกไปลุยน้ำมาทุกครั้ง


2. โรคอุจจาระร่วง   


        ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารมักพบบ่อยขณะเกิดภาวะน้ำท่วมเกิดจากทั้งเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

การติดต่อ
        โดยการสัมผัสเชื้อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้ำท่วม หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดชำระล้างภาชนะใส่อาหาร เช่น ถ้วย ชาม ช้อน ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ ขยะมูลฝอยที่บูดเน่า หรือจากการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงอาหาร จะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารต่าง ๆ ได้ เพราะในช่วงน้ำท่วมเราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงที่สุดคือการใช้มือในการ

รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และอาหารที่รับประทานนั้นควรปรุงให้สุกเต็มที่ก่อนจะรับประทาน เพราะแบคทีเรียและไวรัส จะยังอยู่ในอาหารหากเราไม่ทำการปรุงอาหารให้สุก ก็จะทำให้เกิดโรคท้องร่วงตามมาได้แน่นอน


การป้องกัน

        1. ดื่มน้ำสะอาด น้ำบรรจุขวด ถ้าจำเป็นต้องดื่มน้ำที่ท่วมควรต้มให้สุกก่อน
        2. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
        3. ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำมาใช้
        4. กินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ ที่ไม่มีแมลงวันตอม
        5. รักษาความสะอาดในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย การกำจัดอุจจาระ ปัสสาวะที่ถูกต้อง
        6. หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระในน้ำที่ท่วมเพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ (ในภาวะน้ำท่วมสูงควรถ่ายใส่ถุงดำแล้วโรยปูนขาว ปิดปากถุงให้แน่น รอเรือเก็บขยะมาเก็บ) 
        7. ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายเองควรปรึกษาแพทย์

        8. ควรรับประทานอาหารที่ปรุงถูกสุขลักษณะ 

3. โรคตาแดง

        เป็นโรคติดต่อที่ระบาดได้ง่ายมาก เกิดจากเชื้อไวรัส  โรคนี้จะไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ถ้าไม่รีบรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เพราะในช่วงเวลาน้ำท่วมทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดี

สาเหตุ
        1. ใช้มือสกปรกที่อาจมีเชื้อโรคขยี้ตา
        2. ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ที่เป็นโรค หรือเล่นกับผู้ป่วย
        3.  แมลงวันหรือแมงหวี่ตอมตา หรือฝุ่นละอองเข้าตามาก ๆ จนตาอักเสบ
        4.  อาบน้ำในคลองสกปรก หรือที่มีตาแดงระบาด

การป้องกัน
       ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง  ล้างหน้าและมือให้สะอาดอยู่เสมอ   ไม่ควรเอามือขยี้ตา ห้ามใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดงเด็ดขาด

อาการ
       เคืองตา น้ำตาไหล มีขี้ตามาก อาการจะมีประมาณ 10 วัน
การรักษา
        พักสายตาบ่อย ๆ  ประคบตาด้วยผ้าเย็น และเช็ดตาด้วยสำลีชุบน้ำอุ่น สังเกตุอาการจะดีขึ้น ใน 1 สัปดาห์


4. โรคฉี่หนู Leptospirosis


        เชื้อนี้สามารถพบได้สัตว์หลายชนิด  แต่พบมากในหนู  โดยตัวเชื้อโรคในหนูจะออกมากับฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งเชื้อที่อยู่ตามแหล่งน้ำนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง และหากบริเวณบาดแผลไปสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนู เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ตัวผู้ป่วย และก่อโรคได้ ในภาวะน้ำท่วม สัตว์ต่างๆเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอกับสัตว์ทั้งที่มีพิษ และไม่พิษต่างๆ ยิ่งถ้าบริเวณรอบบ้านคุณอยู่ใกล้ตลาดหรือแหล่งชุมชน จะเป็นแหล่งกบดานของหนูต่างๆและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี น้ำที่ท่วมขึ้นมาก็จะชะล้างฉี่หนูและเชื้อโรคอื่นๆปนมาด้วย

สาเหตุ
         เกิดจากเชื้อ Leptospira interogans มักจะพบการระบาดช่วงฤดูฝนเพราะมีน้ำขัง
การติดต่อ
         โดยเชื้อที่ปนในน้ำ ในดิน เข้าสู่คนทางผิวหนัง หรือเยื่อบุ ที่ตา ปาก จมูก
หลังจากได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิด

อาการของโรค คือ
      - ปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
        - ปวดกล้ามเนื้อมาก   โดยเฉพาะบริเวณ ขา น่อง เวลากด หรือจับจะปวดมาก
        - ไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น อาการต่าง ๆ อาจอยู่ได้ 4-7 วัน    
        นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง การตรวจร่างกายในระยะนี้อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการตาแดง

การป้องกัน

        - หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท
        - ล้างเท้าหรือส่วนที่แช่อยู่ในน้ำเมื่อขึ้นจากการแช่น้ำทุกครั้งและรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
        - เมื่อมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศรีษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลังหรือมีอาการตาแดง ให้รีบพบแพทย์ด่วน

การรักษา

       ก่อนอื่นผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และยาที่มักจะได้รับ คือ ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน หรือ doxycycline อย่างไรก็ตาม ห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ร่างกายเองไม่สามารถ

ที่จะสร้างภูมิต้านทานโรคขึ้นได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น 
         


5.โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ  ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมี

อาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อคหรือเสียชีวิต โรคนี้พบมาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

อาการ

1. ระยะไข้ (2-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา

2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อคทุกราย

ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ เข้าสู่ระยะฟื้นตัว

3. ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

ข้อแนะนำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมมีดังนี้

  1. เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์สั่ง ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีไข้เกิน 3 วัน ควรมาพบแพทย์

  2. ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้

  3. ดื่มน้ำมากๆ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่า

  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือดำ เพราะอาจทำให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้

  6. ให้มาพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้​

    • อาเจียนมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้เพียงพอ

    • ปวดท้องมาก

    • มีเลือดออกรุนแรง เช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด

    • เอะอะโวยวาย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

    • กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น

    • ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง

    • ซึมลงไม่ค่อยรู้สึกตัว หอบเหนื่อย

การรักษา

เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามให้ยาแอสไพริน ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้ ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆกับช่วงที่ไข้ลดลง ผู้ปกครองควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

การป้องกันในภาวะปกติ

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งแม้ในเวลากลางวัน

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบๆบ้าน

  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน

  • กำจัดภาชนะแตกหักที่ขังน้ำ เช่น ยางรถเก่า กระถาง

  • เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่นๆ

  • ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่นๆให้มิดชิดหรือใส่ทรายเคมี กำจัดลูกน้ำในภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าวสัปดาห์ละครั้ง

  • ใส่ทรายอะเบต 1% ลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตรควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน น้ำที่ใส่ทรายอะเบตสามารถใช้ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย

6. โรคเครียด       ในภาวะเช่นนี้ ทุกคนที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือกำลังอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกน้ำท่วม ก็จะเกิดภาวะเครียดเป็นธรรมดา จะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยส่วนตัวของผู้นั้นเองว่ามีความมั่นคงทางอารมณ์มากน้อยเพียงใด แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีเพียงใด และอีกปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของความเครียด คือขนาดของความเสียหาย หากขนาดของความเสียหายมาก ก็มีโอกาสที่จะมีความเครียดรุนแรงได้  หากมีอาการเครียดมากจน ทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเสียไป นอนไม่หลับ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ และแพทย์อาจให้ยาคลายเครียดช่วย ในรายที่มีอาการมาก จนรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน และในรายที่อาการมาก อาจต้องพบจิตแพทย์ ไม่มีใครหรอกครับที่อยากให้บ้านหรือทรัพย์สินตัวเองเสียหาย หรือกระทบการใช้ชีวิตประจำวันในการทำมาหากิน หากเรามานั่งตระหนักถึงสถานการณ์ ว่าจริงๆแล้วเราไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ ไม่มีใครควบคุมปริมาณฝนหรือการตกของฝนได้ 100% เราเพียงแต่ต้องเตรียมการรับมือ ให้ดีที่สุด เพราะถ้าเราเตรียมรับมือ

*** การป้องกันในสถานการณ์ภาวะน้ำท่วมขัง เราไม่อาจควบคุมสถานการณ์ภายนอกได้ จึงควรจัดการบริเวณรอบบ้านและในบ้านด้วยตัวเอง โดยการใช้สเปรย์สมุนไพรในช่วงเวลาปกติ รวมถึงเวลานอนก็ควรกางมุ้งนอน 

 

ในช่วงเวลาน้ำท่วม หากไม่สามารถหาอุปกรณ์ป้องกันหรือสารป้องกันยุงได้ เราอาจจะใช้สมุนไพรไทยที่พอหาได้ทดแทน อย่างน้อยจะลดความเสี่ยงที่ยุงจะกัดหรือมาอยู่ใกล้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
 

วิธีไล่ยุงด้วยวิธีการพื้นบ้าน แน่นอนว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยจากสารเคมี หรือสิ่งที่อาจจะจสร้างอันตรายต่อสุขภาพของท่านได้ นอกจากนั้นยังเป็นวิธีการที่ประหยัดอีกด้วย ดังนี้

1. วางกระเทียม-พริกไทยดำตามมุมห้องครัว หรือบ้าน

นำกระเทียมปลอกเปลือก-ปาดหัว หรือพริกไทยดำ มาวางตามมุมต่าง ๆ ที่ต้องการ โดยเฉพาะมุมมืด ๆ ที่ยุงมักจะแอบเข้าไปอยู่ วิธีนี้จะทำให้ยุงบินหนีไปที่อื่น หรือนอกบ้านได้

2. ใช้พัดลมไล่ยุง

ยุงตัวเล็ก มีน้ำหนักเบา เมื่อเจอลมเข้าไป แน่นอนว่าจะไม่สามารถต้านแรงลมได้จนต้องล่าถอยออกไปในส่วนที่ไม่มีลมแทน

3. จุดเทียนหอมระเหย

เทียนหอมระเหย เทียนอโรม่า ที่หลายคนชื่นชอบ สามารถไล่ยุงได้ เนื่องจากเทียนหอมระเหยมักมีสมุนไพรผสมอยู่มากมาย เช่น ตะไคร้ หรือยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นกลิ่นที่ยุงไม่ค่อยชอบ

4. เผาโรสแมรี่ เปลือกส้ม

หากชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือบริเวณสนามหญ้า แต่ถูกยุงรบกวน แนะนำให้ใช้โรสแมรี่ หรือเปลือกส้ม เผาในเตา กลิ่นที่ลอยออกมาจะช่วยไล่ยุงได้

5. ป้องกันยุงด้วยต้นสะเดา

ต้นสะเดามีสรรพคุณในการไล่ยุง โดยสามารถสกัดน้ำยาได้ทั้งจากต้นสะเดาสดหรือเมล็ดก็ได้

6. ใช้น้ำมันสกัดจากถั่วเหลือง

น้ำมันสกัดจากถั่วเหลืองมีสรรพคุณช่วยไล่ยุงได้เช่นกัน

7. หลอดไฟเหลืองกันยุง

เนื่องจากยุงจะไม่ใชอบแสงจากหลอดไฟสีเหลือง จึงสามารถนำวิธีมาประยุกต์ใช้โดยการพ่นสเปรย์สีเหลือง หรือเคลือบหลอดไฟตะเกียบหรือหลอดไฟกลม นำไปติดตั้งบริเวณที่มืด ๆ อย่างระเบียงบ้าน หรือรั้วบ้านได้

8. ปี๊บดักยุง

นำถุงเท้าที่มีกลิ่นอับ ใส่ในปี๊บแล้วนำไปวางไว้ในมุมอับของบ้าน ทิ้งไว้ข้ามคืน ยุงจะบินเข้าไปตอมกลิ่น ตอนเช้าจึงปิดฝาแล้วนำปี๊บไปตากแดด เท่านี้ยุงก็จะตายทั้งหมด

9. ใช้กากกาแฟป้องกันยุงวางไข่

โรยกากกาแฟลงไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่และป้องกันไม่ให้ยุงขยายพันธุ์ในบ้าน

ขอขอบคุณกองบรรณาธิการวารสารศิริราชประชาสัมพันธ์และ ddproperty สำหรับข้อมูลและบทความครับ

bottom of page